22 January 2019

วิธีการก่ออิฐมวลเบาอย่างถูกวิธี

เทคนิคการก่ออิฐมวลเบาอย่างถูกวิธี

ในการสร้างบ้านที่ดีต้องสร้างให้มีความแข็งแรง ให้เราได้อยู่อาศัยอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีความสุข
ซึ่งสิ่งสำคัญในการสร้างบ้านก็คือ รากฐานที่ดี การสร้างด้วยวิธีที่ถูกต้องเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ได้อย่างเต็มที่ 
ซึ่งวัสดุแต่ละประเภทก็มีวิธีใช้งานที่แตกต่างกัน อิฐมวลเบาเองก็มีเทคนิคในการใช้งานอย่างถูกวิธีเช่นกัน
 
ผนังที่ก่อจากอิฐมวลเบาจะไม่ค่อยแข็งแรงหรือเปล่านะ

หลาย ๆ คนคงยังมีความคิดว่า ผนังจากอิฐมวลเบามีความแข็งแรงน้อยกว่าผนังอิฐอื่น ๆ
เพราะขึ้นชื่อว่าเบาก็น่าจะไม่แข็งแรงทนทาน และยังมีความเชื่อว่าผนังจะแตกร้าวง่ายอีกด้วย

ผนังอิฐมวลเบาไม่ได้แข็งแรงน้อยกว่าผนังอิฐแบบอื่น 

แต่ในความจริงแล้วผนังจากอิฐมวลเบามีความแข็งแรงไม่น้อยกว่าผนังจากอิฐแบบอื่นเลย
แต่สิ่งสำคัญคือ การก่ออิฐมวลเบาด้วยวิธีที่ถูกต้องครับ
 
ใช้อุปกรณ์สำหรับอิฐมวลเบาอย่างถูกต้อง

ในการก่ออิฐมวลเบาเราต้องใช้ ปูนก่อสำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ(บางครั้งถูกเรียกว่าปูนกาว)
ซึ่งหากเราใช้ปูนทรายทั่วไปที่แห้งเร็วจะทำให้มีแรงยึดติดไม่ดีทำให้ผนังที่ก่อเสร็จออกมาไม่แข็งแรงได้
และการใช้เกรียงสำหรับอิฐมวลเบาจะช่วยให้ปูนก่อกระจายตัวได้อย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ ทำให้มีแรงยึดติดมากขึ้น 
ซึ่งเกรียงสำหรับอิฐมวลเบาก็จะมีหลายขนาดเพื่อความเหมาะสมกับอิฐมวลเบาแต่ละความหนาด้วย

ทำความสะอาดบริเวณที่จะก่ออิฐมวลเบาให้สะอาด 

ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะก่ออิฐมวลเบาด้วยน้ำและปัดฝุ่นผงออกให้หมด เพราะหากพื้นที่ที่เราจะก่ออิฐมีฝุ่นอยู่จะทำให้การยึดเกาะได้น้อยลง 
กำหนดระยะแนวก่อให้ชัดเจน แล้วขึงเส้นเอ็นตามแนวที่กำหนดเพื่อที่จะก่ออิฐได้ง่ายขึ้น
 
เริ่มก่อผนังด้วยปูนก่ออิฐมวลเบาแล้วปรับระดับด้วยปูนทรายทั่วไป

ทาปูนก่ออิฐมวลเบาลงบนพื้นเป็นชั้นแรกก่อน จากนั้นในการปรับระดับจึงใช้ปูนทรายทั่วไปปรับระดับอีกที 
โดยในการปรับระดับควรวางปูนทรายให้หนาเป็นสองเท่าของระดับความสูงที่ต้องการเพื่อให้เมื่อวางอิฐลงไปแล้วเนื้อปูนจะได้แน่น
แต่ไม่ควรหนาเกิน 5 ซม. เพราะเมื่อปูนทรายหดตัวจะแตกเสียหายได้ง่าย

ใช้เกรียงก่ออิฐมวลเบาป้ายปูนก่ออิฐมวลเบา 
 
ในการป้ายปูนเราควรใช้เกียงสำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะตามแต่ละขนาดของอิฐมวลเบา
ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้ายปูนได้อย่างสม่ำเสมอ โดยป้ายตลอดแนวด้านล่างของอิฐและส่วนที่ติดกับเสาโครงสร้าง
รวมถึงส่วนเสาโครงสร้างด้วย โดยวางอิฐด้วยสองมืออย่างมั่นคง
 
ใช้ค้อนและระดับน้ำในการจัดระดับแนว

การก่ออิฐแถวแรกถือเป็นฐานที่สำคัญที่สุด จึงต้องจัดระดับให้ราบเรียบที่สุด
โดยใช้ค้อนค่อยๆ เคาะให้ได้ระดับอย่าเร่งรีบแล้ววัดด้วยระดับน้ำให้สม่ำเสมอด้วย โดยต้องอย่าลืมวัดในแนวขวางด้วย
 
ก่ออิฐแต่ละก้อนให้สม่ำเสมอกัน

จากนั้นจึงก่ออิฐก้อนต่อไปด้วยวิธีเดียวกันไปเรื่อยๆ โดยให้ป้ายปูนในบริเวณที่ต้องสัมผัสกับอิฐก้อนอื่นและพื้น

ควรเริ่มก่ออิฐแถวแรกรอบบ้านเสียก่อน 

วันแรกควรก่ออิฐแถวแรกให้ครบทุกแนวผนังก่อน เพื่อรอให้ปูนทรายปรับระดับแข็งตัว
ในวันต่อมาจึงก่อแถวที่สองซ้อนขึ้นไป จะทำให้ทำงานได้ต่อเนื่อง งานเสร็จไว และได้ผนังที่แข็งแรง

ใช้เกรียงฟันปลาทำให้อิฐราบเรียบเสมอกัน 

แม้ว่าเราจะตั้งใจก่ออิฐให้ระนาบเสมอกันขนาดไหนก็ตาม แต่ยังไงก็ยังมีความสูงแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย
เราจึงต้องใช้เกรียงฟันปลาปรับระดับอิฐให้ระนาบเสมอกันจะทำให้ไม่เกิดปัญหาก่ออิฐไม่เต็มรอยต่อ
 
การก่อแต่ละชั้นควรเหลื่อมซ้อนกันไม่ต่ำกว่า10ซม.

ในการก่ออิฐนั้นต้องมีการตัดมีการตัดอิฐเพื่อให้พอดีกับช่องที่เหลือของแนวอิฐ
ซึ่งในการตัดอิฐมวลเบานั้นถ้าตัดตามแนวตั้งควรตัดให้มีขนาดไม่น้อยกว่า 10 ซม. (ถ้าเป็นแนวนอนควรไม่บางกว่า 5 ซม.)
และในการก่ออิฐให้ซ้อนกันควรมีระยะเหลื่อมของอิฐตัวบนและตัวล่างไม่น้อยกว่า 10 ซม.

ยึดผนังด้วยเหล็กเส้นหรือMetal_Strap_ทุกๆ2ชั้น
 

เมื่อก่ออิฐแถวที่สองแล้ว ควรที่จะต้องติดตั้งเหล็กเส้นหรือ Metal strap ที่แถวผนังอิฐมวลเบาที่ติดกับเสาทั้งสองด้าน
เพื่อยึดผนังอิฐไว้กับโครงสร้างหลักของบ้าน ซึ่งช่วยป้องกันและลดการแตกร้าวของผนังเมื่อมีการสั่นสะเทือน และการขยายตัวหดตัวเนื่องจากอุณหภูมิได้


เป็นยังไงบ้างครับกับเทคนิคในการก่ออิฐมวลเบา ไม่ได้ยากอย่างที่คิดใช่ไหมครับ อาจจะแตกต่างจากการก่ออิฐชนิดอื่นอยู่บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญก็เหมือนกันนะครับ คือ การรู้จักใช้อุปกรณ์และวัสดุอย่างถูกต้องเหมาะสม และที่สำคัญคือ ต้องทำแต่ละขั้นตอนอย่างตั้งใจโดยไม่เร่งรีบนั้นเองครับ