29 January 2019
เคาน์เตอร์มวลเบาคืออะไร มีวิธีการติดตั้งอย่างไร
เคาน์เตอร์มวลเบาโดดเด่นที่ความแข็งแรง ความสะดวกในการติดตั้ง และง่ายต่อการเก็บรายละเอียดงาน อีกทั้งยังใช้เวลาในการติดตั้งเสร็จเร็วกว่าการหล่อเคาน์เตอร์ คสล. ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้
ในบทความนี้เรามาดูกันว่าขั้นตอนการติดตั้งเคาน์เตอร์มวลเบาที่ว่าง่าย นั้นจะง่ายแค่ไหน ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยครับ
ขั้นตอนที่ 1 วางแผนการทำงาน
การจะทำอะไรให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ต้องเริ่มจากวางแผนการทำงานให้ดีเสียก่อน
โดยเราต้องวางตำแหน่งที่จะติดตั้งเคาน์เตอร์ครัว วางตำแหน่งท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้ง
ตัดสินใจเลือกรูปทรงของเคาน์เตอร์ให้เหมาะกับพื้นที่ ซึ่งมีให้เลือกทั้ง ทรงตัวไอ ทรงตัวแอล ทรงตัวยู ฯลฯ
เพื่อจะได้ประเมินจำนวนชิ้นส่วนของเคาน์เตอร์ ก่อนจะสั่งซื้อเพื่อประเมินค่าใช้จ่าย
ขั้นตอนที่ 2 เตรียมอุปกรณ์ในการก่อ
ในการก่อเคาน์เตอร์มวลเบาต้องใช้เครื่องมือที่ออกแบบมาเฉพาะ
ได้แก่ เกรียงก่อ แบบที่ใช้กับอิฐมวลเบา ค้อนยาง เพื่อใช้เคาะให้แต่ละชิ้นส่วนแนบสนิทกันดี
หัวปั่นปูน เพื่อใช้ปั่นผสมปูนก่อให้เนียน มีเนื้อละเอียด ไม่จับตัวเป็นก้อน และอุปกรณ์อื่น ๆ ประจำตัวช่าง
ขั้นตอนที่ 3 ผสมปูนสำหรับก่อ
ปูนที่ใช้ก่อเคาน์เตอร์มวลเบาเป็นปูนชนิดเดียวกับที่ใช้ก่ออิฐมวลเบา โดยใส่น้ำลงในถังประมาณ 1 ใน 4 ส่วน
และตักผงปูนก่อใส่ลงไปให้ได้ประมาณครึ่งถัง จากนั้นคนให้ปูนละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ซึ่งหากรู้สึกว่าปูนข้นไปสามารถเติมน้ำเพิ่มได้ หรือหากปูนเหลวไปสามารถเติมผงปูนเพิ่มได้
จากนั้นนำหัวปั่นปูนประกอบเข้ากับสว่าน นำมาปั่นปูนในถังจนละเอียด เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
เสร็จแล้วสามารถนำปูนก่อไปใช้ได้ทันที โดยควรผสมปูนก่อแค่พอใช้เท่านั้น และต้องใช้ให้หมดภายใน 2 ชม.
ขั้นตอนที่ 4 ติดตั้งส่วนขา
ป้ายปูนก่อที่ชิ้นส่วนขาของเคาน์เตอร์ (Counter Column) ตรงบริเวณด้านข้างที่จะสัมผัสกับผนัง
และตรงบริเวณด้านล่างที่จะสัมผัสกับพื้น โดยต้องป้ายปูนก่อบริเวณที่จะนำไปติดตั้งด้วย
เน้นย้ำว่าชิ้นส่วนทุกชิ้นตรงบริเวณที่สัมผัสกันต้องมีปูนก่อเป็นตัวประสานกันเสมอ
ยกชิ้นส่วนขาของเคาน์เตอร์ไปติดตั้งบริเวณที่วางเอาไว้ จากนั้นใช้ค้อนยางเคาะให้เข้าที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 5 ติดตั้งส่วนพื้น
เมื่อติดตั้งส่วนขาไปแล้วต่อมาก็ติดตั้งส่วนพื้น (Counter Floor) ของเคาน์เตอร์กันต่อ
โดยนำชิ้นส่วนพื้นมาป้ายด้วยปูนก่อตรงบริเวณด้านข้างที่สัมผัสกับชิ้นส่วนขาและผนัง
อย่าลืมว่าเราต้องป้ายปูนก่อตรงชิ้นส่วนขาและผนังบริเวณที่จะสัมผัสกับชิ้นส่วนพื้นด้วยเหมือนกัน
ขั้นตอนที่ 6 ติดตั้งส่วนบน
มาถึงส่วนบนของเคาน์เตอร์ (Counter Unit), ส่วนล้างจาน (Sink Unit) และส่วนเตาประกอบอาหาร (Oven Unit)
วิธีการก็ง่ายเหมือนติดตั้งชิ้นส่วนอื่น ๆ โดยการป้ายปูนก่อที่ตัวชิ้นส่วนเคาน์เตอร์ และบริเวณที่จะสัมผัสกับชิ้นส่วน
จากนั้นนำชิ้นส่วนไปวางไว้ตรงตำแหน่งที่ต้องการ ใช้ค้อนยางเคาะให้เข้าที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 7 เก็บรายละเอียดงาน
เมื่อทุกชิ้นส่วนของเคาน์เตอร์อยู่ในที่ทางที่ถูกต้องแล้ว เราก็มาเก็บรายละเอียดงานกัน โดยแต่ละชิ้นส่วนอาจมีช่องว่างระหว่างกัน ให้นำเอาปูนก่อมาอุดช่องว่างนั้น เพียงเท่านี้เราก็ติดตั้งเคาน์เตอร์มวลเบาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมสำหรับตกแต่งเพิ่มเติมให้สวยเข้ากับตัวบ้าน
เคาน์เตอร์มวลเบาสร้างเสร็จไวกว่าแค่ไหน?
เพราะเคาน์เตอร์มวลเบามาเป็นแผ่นชิ้นส่วนสำเร็จรูป ไม่ต้องเสียเวลาก่ออิฐทีละก้อนแบบเคาน์เตอร์อิฐมอญ
หากช่างที่ทำการติดตั้งมีความชำนาญ จะสามารถติดตั้งเคาน์เตอร์มวลเบาเสร็จได้ภายใน 2 วัน
แถมมีวัสดุเหลือทิ้งน้อยจึงเก็บกวาดและทำความสะอาดได้ง่าย ช่วยลดเวลาการติดตั้งได้ดีกว่าเคาน์เตอร์อิฐมอญถึง 5 เท่า
เคาน์เตอร์มวลเบาแข็งแรงจริงหรือ?
แม้จะชื่อว่าเคาน์เตอร์มวลเบา แต่ความจริงแล้วเคาน์เตอร์ชนิดนี้แข็งแรงอย่างมากเพราะเสริมเหล็กชุบกันสนิมเอาไว้ด้านใน
โดยเคาน์เตอร์มวลเบาสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 100 กก./ตรม.
และจากการทดสอบโดย Asian Institute of Technology (AIT) พิสูจน์ว่าสามารถรับแรงกดแนวดิ่งได้ไม่น้อยกว่า 9 ตัน
จึงมั่นใจได้ว่าเคาน์เตอร์มวลเบาแข็งแรงจริง ใช้งานเป็นครัวไทยได้อย่างมั่นใจ
เคาน์เตอร์มวลเบาคุ้มกว่าจริงหรือ?
หากเทียบค่าใช้จ่ายในด้านราคาวัสดุก่อสร้าง เคาน์เตอร์มวลเบามีราคาสูงกว่าเคาน์เตอร์อิฐมอญ
แต่ด้วยความที่เคาน์เตอร์มวลเบามาเป็นแผ่นชิ้นส่วนสำเร็จรูป มีจำนวนชิ้นส่วนน้อย
จึงก่อสร้างได้เร็วกว่าเคาน์เตอร์อิฐมอญที่ต้องก่ออิฐทีละก้อน จึงช่วยประหยัดเวลาและค่าแรงช่างไปได้มาก
เห็นไหมครับว่าเคาน์เตอร์มวลเบานั้นทั้งติดตั้งง่าย สะดวก และรวดเร็ว ไม่เสียเวลามากเหมือนเคาน์เตอร์แบบอื่น ๆ ทั้งยังการันตีด้านความแข็งแรง สามารถใช้งานได้ดีตามวัตถุประสงค์ คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปอย่างแน่นอน